วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เนื้อหาเตรียมสอบภาค ก ผู้บริหารสถานศึกษา

การบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์*
(Results Based Management - RBM)

โดย -เมธินี จิตติชานนท์
ผู้อำนวยการกองฝึกอบรม
สำนักงานประกันสังคม

สถานการณ์ปัจจุบันนี้ทุกท่านคงทราบดีว่าเราอยู่ในช่วงของการพัฒนาระบบราชการ ทำไมถึงต้องมีการพัฒนา เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลง โลกไร้พรมแดนที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ การติดต่อสื่อสารไปมาได้รวดเร็ว ใครทำอะไรที่ไหนเราก็รู้ได้โดยรวดเร็ว หากเป็นเรื่องที่ดีเราก็จะเลียนแบบและทำตาม เพราะฉะนั้น ตัวแรกที่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบราชการไทยคือ โลกาภิวัตน์ ตั้งแต่ปี 2540 ช่วงที่เกิดเศรษฐกิจวิกฤตทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนดูว่า ราชการไทยจะยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบเดิมได้หรือไม่ ในช่วงนี้เมื่อเกิดสถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเราขยับตัวไม่ทันทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง นี้คือ ปัจจัยตัวที่ 2 ส่วนปัจจัยที่ 3 เราจะเห็นได้ชัดเจนและเชื่อว่า กลุ่มพวกท่านจะสัมผัสอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัจจัยที่ 4 ความเข้มแข็งของภาคเอกชน ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งกว่าภาคราชการมากเพราะเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ การเรียนรู้ประสบการณ์ของต่างประเทศก็ไปได้เร็ว เพราะเราได้รับทราบข่าวสารจาก CNN ปัจจัยสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญใหม่ค่อนข้างชัดเจนว่า ภาครัฐต้องรู้จักการบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เหล่านี้คือที่มาของการพัฒนาระบบราชการไทย
การพัฒนาระบบราชการไทย
การพัฒนาระบบราชการไทยเว้นไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึง พระราชบัญญัติระเบียบบริหาร
ราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ว่าด้วยเรื่องของมาตรา 3/1
มาตรา 3/1 ค่อนข้างกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการไปโดยคำนึงถึง ประโยชน์สุขของประชาชน จะต้องดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อ
ภารกิจของรัฐ ภารกิจใด ๆของรัฐก็ตามจะต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้จงได้ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรต่าง ๆจะต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ ส่วนที่สำคัญต่อไปคือ ขั้นตอนในการทำงานทั้งหลายทำอย่างไรจะลดลงให้ได้ ปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาระบบราชการไทย เขาบอกว่า ในกระบวนการทั้งหลายที่แต่ละหน่วยราชการมีนั้นจะต้องปรับลดขั้นตอนการปฏิบัติงานให้ได้ครึ่งหนึ่ง สมมุติว่าเรามีอยู่ 20 กระบวนการ ภายในปี 2550 จะต้องลดให้ได้ 10 กระบวนการ นี้คือ
เป้าหมายการลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และในวันพรุ่งนี้จะมีการแถลงผลการพัฒนาระบบราชการไทยครบ 2 ปี ที่หอประชุมกองทัพเรือ

*ถอดเทปการบรรยายและเอกสารประกอบการบรรยายจากหลักสูตรนายอำเภอรุ่นที่ 56 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547
เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ โรงเรียนนายอำเภอ วิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย


นอกจากนี้ยังจะต้องมองการกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น ตรงนี้มีเป้าหมายอยู่แล้วว่าเราจะกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น เพราะยังทำได้ไม่เต็มที่ การกระจายอำนาจการตัดสินใจจะเห็นว่า ผู้ว่า CEO จะได้รับมอบอำนาจมากขึ้นจากระดับกรม ฯ จากส่วนกลาง เรื่องต่อมาคือ การอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชน และสุดท้ายคือ มีความรับผิดชอบต่อผลของงาน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย
เมื่อมีพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยไว้ 7 ยุทธศาสตร์ดังนี้คือ
1.การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน
2.การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน
3.การปรับรื้อระบบการเงินและการงบประมาณ
4.การสร้างระบบบริหารบุคคลและค่าตอบแทนใหม่
5.การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม
6.การเสริมสร้างราชการให้ทันสมัย
7.การเปิดระบบราชการ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน
เป็นการวางเงื่อนไขให้ส่วนราชการต่าง ๆนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง โดยให้มีการทำยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยให้มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับองค์การ(Organization Scorecard) ลงไปจนถึงระดับตัวบุคคล (Individual Scorecard) รวมถึงให้แต่ละส่วนราชการจัดให้มีการรายงานผลสัมฤทธิ์รายปี เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะฉะนั้นต่อไป เขาจะมี KPI (Key Performance Indicator) ตัวชี้วัด ระดับบุคคล ก่อนจะข้ามไปถึงเรื่อง RBM ขอพูดถึงกรอบของกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงมี ขั้นตอนของการทำงานในปัจจุบันอยู่ 3 ขั้นตอนดังนี้คือ
ขั้นที่ 1 การละลาย Unfreezing
แจ้งการเปลี่ยนแปลง
จงใจพนักงานให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ละลายพฤติกรรม ค่านิยม และทัศนคติ
ขั้นที่ 2 การเปลี่ยนแปลง (Moving)
ปฏิบัติตามการเปลี่ยนแปลง
แนะนำความรู้ใหม่ รูปแบบพฤติกรรมใหม่ ค่านิยมและความเชื่อถือใหม่
ละลายพฤติกรรม ค่านิยม และทัศนคติ
ขั้นที่ 3 การก่อรูปใหม่ Refreezing
เสริมและสนับสนุนรูปแบบใหม่
ทำให้การเปลี่ยนแปลงมั่นคงและจัดให้มีขั้นในองค์การ
ละลายพฤติกรรม ค่านิยม และทัศนคติ
ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การทำงานในอนาคต(Future performance)
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานแล้วเรายอมรับกันหรือเปล่า หากยอมรับบางส่วนก็จะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ว่าจะอยู่ไหนก็ตาม สาเหตุการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนักวิชาการได้รวบรวมและสรุปไว้ดังนี้ คือ
1.การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวขาดหายไปที่เคยได้มากอาจจะลดลง บางเรื่องได้มากขึ้นแต่ก็ต่อต้านได้
2.การขาดความเข้าใจและความเชื่อถือ ไม่เข้าใจว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงแล้วทำอะไรดีขึ้น
3.ความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงในช่วงของการละลายไปสู่การเปลี่ยน เพราะอาจไม่แน่นอนเหมือนกัน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเปลี่ยนแล้วมันจะเป็นอย่างไร ยึดตามแนวนี้ได้ไหมหรือจะต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่อีก
4.การรับรู้ที่แตกต่างกัน
ทั้ง 4 สาเหตุของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่วิธีการที่จะจัดการกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง
1.การให้การศึกษาและการติดต่อสื่อสาร
2.การมีส่วนร่วม ลดแรงต่อต้านได้
3.การอำนวยความสะดวกและการสนับสนุน ให้กับผู้ที่ต่อต้านนั้น เช่น เขาไม่พอใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาก็ต้องใช้วิธีจับเข่าคุยกัน เป็นการอำนวยความสะดวกให้ไม่ได้ปฏิเสธเขา
4.การเจรจาต่อรอง หลักของการเจรจาต่อรองพยายามให้ฝ่ายตรงข้ามเปิดเผยจุดยืนของเขาก่อนเพื่อนำไปปรับใช้
5.การแทรกแซง ส่งใครก็ได้เข้าไปเจรจาต่อรอง
6.การบังคับ การทำงานโดยวิธีการบังคับนั้นสำเร็จแต่ไม่ได้ใจเขา

แนวคิด หลักการ และรูปแบบของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์
การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์
เป็นเทคนิควิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวิธีการบริหารงานภาครัฐไปจากเดิมที่ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้า (input) และอาศัยกฏระเบียบ เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความถูกต้อง สุจริตและเป็นธรรม โดยหันมาเน้นถึงวัตถุประสงค์และสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานทั้งในแง่ของผลผลิต(Output) และผลลัพธ์ (Outcome) และความคุ้มค่าของเงิน (Value for money) รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน ผู้รับบริการ
การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Results Based Management - RBM)
แยกออกเป็น ผลสัมฤทธิ์ = ผลผลิต + ผลลัพธ์
(RESULTS) = (OUTPUTS) + (OUTCOMES)
การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์คืออะไร
คือ วิธีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์หรือผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก โดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ที่มาของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์
มาจากแนวคิดของการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management : NPM ) (3 E) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อ
ความประหยัด (Economy) การใช้ต้นทุนหรือทรัพยากรการผลิตอย่างเหมาะสม และมีความคุ้มค่าที่สุด
ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ได้ผลงานในระดับที่สูงกว่าปัจจัยนำเข้า
ประสิทธิผล (Effectiveness) ประสิทธิผลการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

และการบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นต้องใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีด้วย (ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ.2542) โดยมีหลักปฏิบัติ 6 ประการ แต่การบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นนำมาใช้เพียง 4 หลักปฏิบัติตั้งแต่ข้อ 3 ถึง ข้อ 6
1.หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง การตรากฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย การกำหนดกฎ กติกาและการปฏิบัติตามกฎ กติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัดโดยคำนึงสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมของสมาชิก
2. หลักคุณธรรม (Ethics) หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ
3. หลักความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติโดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส
4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะการประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติหรืออื่น ๆ
5. หลักความรับผิดชอบ (Accountability) หมายถึง การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากการกระทำของตน เช่น รับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยอมรับต่อผลการดำเนินการ
6. หลักความคุ้มค่า (Utility) หมายถึงการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้อย่างคุ้มค่าสร้างสรรค์สินค้า และบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน RBM : Results เกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการของการบริหาร ได้แก่
Plan ต้องกำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายชัดเจน (ต้องการผลสัมฤทธิ์อะไร)
Do ปฏิบัติมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่วางแผนไว้
Check วัดว่าปฏิบัติได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่วางแผนหรือไม่ (KPI ชัดเจน)
Act ปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่วางแผนไว้
การติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Monitoring)
เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะเรื่องนี้
เป็นกระบวนการวัดผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
เป็นการกำกับ ตรวจสอบการใช้ทรัพยากรในการปฏิบัติงาน
สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการของรัฐได้
ประโยชน์ของการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน
กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน
ปรับปรุงการกำหนดนโยบาย
สามารถแสดงภาพรวมของสถานภาพ
สนับสนุนการวิเคราะห์แนวโน้มผลการปฏิบัติงาน
การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ เกี่ยวข้องกับการกำหนด
วิสัยทัศน์
พันธกิจหรือภารกิจ
ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก
วิสัยทัศน์ (Vision)
คือ ภาพที่องค์การต้องการจะเป็นหรือเป็นเป้าประสงค์โดยรวมที่องค์การต้องการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต
พันธกิจ (Mission)
เป็นหลักการพื้นฐานจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์การและขอบข่ายการดำเนินงานขององค์กร
ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor)
“สิ่งที่เราต้องการทำให้มีหรือให้เกิดขึ้นเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรคืออะไร”
ถ้าหากว่า เรากำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้แล้ว การที่เราจะบรรลุวิสัยทัศน์นั้นเราต้องทำอะไรบ้างหรือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง องค์กรจึงจะบรรลุวิสัยทัศน์ ฉะนั้นจึงต้องมีเกณฑ์การกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ ดังนี้
เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์โดยมุ่งความสำคัญที่ผลผลิตและผลลัพธ์
เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์กร
มีความเฉพาะเจาะจงและสามารถเข้าใจได้
เป็นที่ยอมรับจากระดับผู้บริหาร
อยู่ภายใต้อิทธิพลการควบคุมขององค์กร
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (Key Performance Indicator)
“เราจะวัดความก้าวหน้าของการบรรลุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จได้อย่างไร”
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก คือสิ่งที่สะท้อนว่า เราจะวัดอะไร อะไรที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเรา ในการกำหนดตัวชี้วัดมีข้อที่จะต้องคำนึงถึงเช่นกันว่า เวลากำหนดขึ้นมานั้นจะต้องรับได้ไหม วัดได้จริง ๆไหมแล้วจะต้องทำได้ และบรรลุได้ ทำความเข้าใจได้ ตรวจสอบได้ วัดได้ภายในเวลาที่กำหนด หากจะจำง่าย ๆนั้นก็คือ SMART เป็นการกำหนดตัวชี้วัด
เกณฑ์การกำหนดตัวชี้วัด
สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้จริง
สามารถบรรลุได้ มีความสมเหตุสมผลที่จะใช้เป็นตัวชี้วัด ไม่วัดในสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความสามารถของส่วนราชการ
สามารถสื่อสารทำความเข้าใจได้ตรงกัน มีความเฉพาะเจาะจง
สามารถตรวจสอบได้
สามารถวัดผลได้อย่างเท่าเทียมกัน ผลงานเหมือนกันควรใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน
สามารถวัดผลการปฏิบัติงานภายในเวลาที่กำหนด
ความหมายของคำว่า Smart มีดังนี้
S pecific - เฉพาะเจาะจง ชัดเจน
M easurable - สามารถวัดได้
A chievable - สามารถบรรลุได้
R ealistic - สอดคล้องกับความเป็นจริง
T imely - วัดได้เหมาะสมตามช่วงเวลาที่กำหนด
การกำหนดตัวชี้วัดต้องกำหนดอย่าง SMART พอเป็นตัวชี้วัดแล้วก็ต้องมาดูการแสดงค่าให้ชัดเจน ดังนั้น ตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่ดีจะต้องแสดงค่าที่แสดงออกมาเป็นตัวเลขอันใดอันหนึ่ง เช่น เป็นร้อยละ (Percentage) อัตราส่วน (Ratio) ค่าเฉลี่ย (Average or Mean) จำนวน ( Number) อัตรา
(Rate) และสัดส่วน (Proportion)
บทเรียนจากประสบการณ์
ตัวอย่างการทำงานเรื่องการบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของสำนักงานประกันสังคมพอสรุปได้ดังนี้
ประโยชน์ของ RBM ที่ผู้บริหารนำมาใช้ในราชการ มีดังนี้
เป็นเครื่องมือในการติดตามงาน
เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากร
ผู้บริหารระดับสูงจะทราบว่าองค์กรอยู่ ณ ตำแหน่งใด
สนับสนุนให้องค์กรมีวิสัยทัศน์
ข้อเสนอแนะในการนำระบบนี้มาใช้
1.บุคลากรมีความเข้าใจ
2.ลดความยุ่งยากในการเก็บข้อมูลการประมวลผล
3.กำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ
4.ผู้บริหารเห็นความสำคัญนำไปใช้ประโยชน์
5.มีทีมงานที่มีความสามารถ
ปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาที่พบ
1.ความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่
2.ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น (เก็บข้อมูลทุกวัน)
3.การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน

แนวทางแก้ไข
1.จัดอบรมสัมมนาปีละ 2 ครั้ง
ทำเอกสารคู่มือ VDO ออกติดตามงาน
2.ตั้งทีมงาน กระจายงาน เฉพาะงานที่จำเป็น
3.ประชุมวิเคราะห์ผลร่วมกัน
มีประโยคที่น่าสนใจอยู่ 3 ประโยคฝากไว้สำหรับผู้ที่จะก้าวเป็นนักบริหารในอนาคตต่อไป
1. If you can’ t measure, you can’ t manage วัดไม่ได้ บริหารไม่ได้
2 2. If you can’ t measure, you can’ t improve วัดไม่ได้ พัฒนาไม่ได้
3. What gets measured, gets done สิ่งไหนที่วัด สิ่งนั้นคนจะสนใจ
ตอนท้ายของเรื่อง การบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์นั้นจะสำเร็จได้ต้อง มีพื้นฐานของการสื่อสารที่ดี การมีส่วนร่วม และการมีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จของบุคลากร โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.การเตรียมการพัฒนาระบบ RBM
2.การพัฒนาระบบ RBM
3.การติดตามและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทั้ง 3 ข้อ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการบริหารผลการปฏิบัติงานได้ต่อไป
เป้าหมายในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมข้าราชการใหม่มี ดังนี้
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า I AM READY ย่อมาจาก
 I (Intergrity) การทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี
 A (Activeness) ขยัน ตั้งใจทำงาน
 M (Moral) มีศีลธรรม
 R (Relevancy) มีการเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับปัญหา
 E (Efficiency) การทำงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ
 A (Accountability) การมีความรับผิดชอบต่อผลงาน
 D (Democracy) มีใจและการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย
 Y (Yield) มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และปฏิบัติงานโดยเน้นผลสัมฤทธิ์
จากการบรรยายดังกล่าวนั้นหวังว่าทุกท่านจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และนำไปปฏิบัติให้เกิดความคล่องตัวขึ้นได้ในอนาคตและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประสบการณ์การเรียนรู้เรื่อง การบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ ขอขอบคุณ
*************************
ถอดเทปการบรรยาย/รวบรวม/พิมพ์โดย
นางพรรณธิภา ธนสันติ นพบ. 6
วิทยาลัยการปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น