วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โรงเรียนดีประจำตำบล อีกครั้ง(5 พ.ย.53--เปิดโครงการ)



"ชาติก้าวไกล โรงเรียนไทยเข้มแข็ง" โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล

ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "ชาติก้าวไกล โรงเรียนไทยเข้มแข็ง" โครงการโรงเรียนดีประจำตำบล เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๓๐-๑๑.๓๐ น. โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลัก รวมทั้งผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมงานกว่า ๓,๐๐๐ คน

รมว.ศธ. กล่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักในความสำคัญของภารกิจในการจัดและส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน

ศธ.ได้ดำเนินการปฏิรูปศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยเน้นการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพ เป็นคนเก่งและคนดี จึงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้เป็นสถานศึกษายุคใหม่ เนื่องจากโรงเรียนเป็นองค์กรทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน

ชุดความคิดด้านการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนจึงเป็นความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงานของ ศธ. โดยเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมายการพัฒนาเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ๕๐๐ โรงเรียน โรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรงเรียน และโรงเรียนดีประจำตำบล จำนวน ๗,๐๐๐ โรงเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนดีประจำตำบลเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานคุณภาพสำหรับเด็กในท้องถิ่นชนบท ซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาสในการรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในเขตเมือง
จากรายงาน ของธนาคารโลก พบว่าผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ อย่างยิ่งในการขยายโอกาสทางการศึกษา ขณะที่คุณภาพของผู้เรียนมีแนวโน้มลดลง หากให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยมีโรงเรียนเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนเทียบเคียงได้กับค่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในสหรัฐอเมริกา แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตชนบทยังด้อยคุณภาพ ทั้งผลการวิจัยพบว่า การทุ่มเททำงานจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาเด็กด้อยโอกาสในท้องถิ่น ชนบทและส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชากรโดยรวม
ดังนั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นชนบทได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และรองรับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างเป็นรูปธรรมทั้งทางด้านคุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ศธ.จึงดำเนินนโยบายโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ คือ

*

เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบทให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ มีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านวิชาการ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อาชีพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัย เป็นศูนย์บริการวิชาการสำหรับโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และมีกิจกรรมบริการชุมชน
*

เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท
*

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งของโรงเรียนและรองรับการกระจายอำนาจ

การดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ศธ.ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ตามลำพัง ชุนชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นองค์กรสำคัญที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การปฏิบัติงานสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

การเปิดโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล "ชาติก้าวไกล โรงเรียนไทยเข้มแข็ง" และการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยใน วันนี้ จึงเปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาต่อกัน ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สำหรับลูกหลานของเราให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ศธ.จึงได้เรียนเชิญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารระดับสูงของทั้งฝ่าย พร้อมทั้งได้เชิญผู้บริหารโรงเรียน และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมเป็นสักขีพยาน จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ ท่าน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะส่งผลให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ใน พื้นที่ ทำให้เกิด "โรงเรียนน่าอยู่ ครูดี นักเรียนมีคุณภาพ ชุนชนร่วมใจ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน" ต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า การพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่ง ศธ.ได้แถลงนโยบายและลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เป็นการดำเนินงานที่มีความสำคัญอีกด้านหนึ่ง มีเป้าหมายที่จะให้การพัฒนาโรงเรียนมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบหรือศูนย์ สาธิตการให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์รวมหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเน้นการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน การสร้างเครือข่ายการพัฒนา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากร ทั้งครู สื่อ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสให้ท้องถิ่นชนบทได้เข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพมากยิ่ง ขึ้น

คุณภาพการศึกษาของระบบการศึกษาที่ผ่านมา มีปัญหามากที่สุดในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งที่มีคุณภาพมาตรฐานที่เทียงเคียงได้กับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่เจริญแล้ว ในจังหวัด ในตัวเมือง ขณะเดียวกันช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนเหล่านี้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไป อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง ซึ่งนอกจากจะกระทบคุณภาพของการศึกษาในภาพรวมแล้ว ยังสร้างปัญหาในความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดในเรื่องการสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้กระจายในทุกพื้นที่ของประเทศ โดย ศธ.ได้วางแนวทางในการเริ่มต้นขับเคลื่อนไปในระดับตำบล ดังที่ได้มีการจัดทำโครงการอยู่ในขณะนี้ และได้ตระหนักถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนดีประจำตำบลที่จะได้มีการดำเนินการจากนี้ไป มีขอบเขตที่กว้างขวาง ต้องครอบคลุมทั้งในเรื่องของวิชาการ การพัฒนาผู้เรียน สุขภาพพลานามัย พื้นฐานอาชีพ และสามารถบริการการศึกษาให้แก่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ และพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และบริการชุมชน ซึ่งต้องอาศัยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเกิดความความรู้สึกเป็นเจ้าของพร้อมๆกันไป
ด้วยเหตุผลนี้การดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายได้ จึงต้องให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ เป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องยั่งยืนสืบต่อไป.

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน

ที่มา สำนักงานรัฐมนตรี ศธ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น